อ่านเร็ว เข้าใจ ไม่มีวันลืม [Book Review 2019 #1]

Yothin Kittithorn
2 min readFeb 10, 2019

--

บทความจากเพจ “โตขึ้นกว่าเมื่อวาน”

  • ไม่มีสมาธิพร้อมจะอ่าน
  • พยายามทำอะไรหลายๆอย่างไปพร้อมกับการอ่าน
  • ตะบี้ตะบันอ่านแบบไม่หยุดแม้สมองจะล้า
  • จำแบบเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ

เชื่อว่าหลายคนเคยประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ไม่น้อยในระหว่างการอ่านอะไรซักอย่างที่เป็นประโยชน์ จนอาจคิดว่า

หรือเราไม่เก่งความจำ ?

“อ่านเร็ว เข้าใจ ไม่มีวันลืม”

หนังสือเล่มนี้จะช่วยเปลี่ยนมุมมองการอ่านเอาความรู้ของคุณ

สิ่งที่คุณคิดว่า คุณความจำดีหรือไม่ดี อาจจะไม่ถูกต้อง
เพราะมันคือ คุณใช้วิธีการแบบที่ฝึกมาแล้วหรือยัง ต่างหาก

ในเล่มถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ

1) สถานการณ์: เรากลายเป็นคนไม่รู้หนังสือกันอีกครั้ง

การจะประมวลผลความรู้ได้นั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน

การซึมซับ | การวิเคราะห์ |การนำไปใช้

ไม่ว่าจะการเรียน หรือการทำงาน เรามักจะเน้นไปในด้าน การนำไปใช้ มากกว่า

ทำให้เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการซึมซับและการวิเคราะห์มากนัก

ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่าทุกวันนี้เรามีข้อมูลมหาศาลมากๆที่ต้องซึมซับทุกวัน
(เท่ากับหนังสือพิมพ์ 174 ฉบับ ทุกวัน)
แต่เราไม่สามารถอ่านได้ทันตามข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น

ผลก็คือเรามักจะอ่านข้อมูลแบบผ่านๆ หรือไม่ก็ข้ามมันไปเลย
ซึ่งมันทำให้เราพลาดข้อมูลสำคัญๆไปได้

ยังไม่รวมถึงสมาธิของเราที่ไม่ค่อยจะอยู่กับเนื้อกับตัว
อ่านๆอยู่ดีๆก็คิดขึ้นมาว่า…

เอ๊ะ เดี๋ยวต้องพี่อ๋อยที่ออฟฟิศนี่หน่า
อ๊ะ วันนี้อยากกินราดหน้าจัง
ตอนนี้ลิซ่าทำอะไรอยู่น้าาา

หรือสารพัดความคิดที่จู่ๆก็เกิดขึ้นมาทำลายสมาธิโดยไม่รู้ตัว(เอ๊ะ หรือว่ารู้?)

เชื่อเถอะ ว่าเรามีสมาธิกันน้อยมากๆ ซึ่งมันส่งผลต่อความเข้าใจ และความจำด้วย

สมาธิ ความเข้าใจ และความจำเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน

พอสมาธิหลุด สุดท้ายก็ต้องมาเสียเวลาคิดว่าเมื่อกี้อ่านไปถึงไหนแล้วอีก

วนๆมันไปแบบนี้แหละ จนหลายครั้งเราก็ดันเลือกที่จะ ทำหลายๆอย่างพร้อมๆกันเลย

(ซึ่งนั่นก็ทำให้วนลูปความไม่มีประสิทธิภาพในการอ่านได้สุดๆ)

มีสถิติหนึ่งที่น่าสนใจมากจากหนังสือเล่มนี้

ภายใน 1 วันเราจะลืมข้อมูลที่อ่าน/ได้ยินไปแล้ว 70%

และจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ใน 1 สัปดาห์

ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะบอกว่า ทุกวันนี้ก็อ่านนะ….. แต่อ่านจากหน้าจอโทรศัพท์

เชื่อไหม ว่านั่นทำให้ประสิทธิภาพลดลงถึง 30 เปอร์เซ็น มาจากการที่แหล่งกำเนิดแสงนั้นอยู่ที่หลังจอ มันทำให้ดวงตาล้าอยู่ไม่น้อย

รวมถึงการเลื่อนจอโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ มันใช้พื้นที่ของสมองไปถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว

อาจเป็นเพราะเราคิดว่า พอเราได้รับข้อมูลเข้าไปแล้ว สมองจะซึมซับอย่างเร็ว และทำให้เราถ่ายทอดข้อมูลได้ง่าย ซึ่งมันไม่จริง

สิ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ คือการหาวิธีใหม่ในการประมวลผล

วิธีที่จะทำให้เราประมวลผลได้เร็ว มีประสิทธิภาพ และง่ายขึ้นกว่าเดิม

มีสมาธิดีขึ้น
ซึมซับข้อมูลได้เร็วและถูกต้อง
จดจำได้ดีและนานขึ้น
ใช้พลังงานน้อยลง

2) วิธี UseClark

วิธีที่จะช่วยให้กระบวนการประมวลผลข้อมูลของเราดีขึ้น

แบ่งออกได้อีกเป็น 8 วิธี ที่จะช่วยเราในมุมที่ห่างกันไป

เป็นเรื่องของวิธีล้วนๆ

ที่เราจำได้ไม่ดี ไม่ใช่เรื่องของอายุ เพศ หรือสติปัญญา

แต่มันมาจากวิธีในการจำของเรายังไม่ได้รับการฝึกฝนมามากพอ

การใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยเรื่องความจำแล้วมันจะช่วยให้เราใช้สมองได้ดีขึ้นกับทุกๆงานด้วย

อุดช่องว่าง

เรามักจะขาดสมาธิจากเรื่องหลักๆ 3 เรื่อง
สิ่งรบกวนภายใน (ความคิดฟุ้งซ่าน)
สิ่งรบกวนภายนอก (โทรศัพท์ เพื่อนร่วมงาน Notification ต่างๆ)
และสิ่งรบกวนด้านเนื้อหา (การคิดแย้งกับสิ่งที่อ่าน)

เพื่อปิดกั้นสิ่งรบกวนเหล่านี้ เราต้องอุดช่องว่างของสมอง

ช่องว่างที่เกิดจากการที่สมองสามารถประมวลผลได้เร็วกว่าสายตาของเราที่อ่านข้อมูล หรือหูที่รับฟังสาส์น

การอ่านให้เร็วขึ้น (ในระดับที่ทำให้เราไม่ว่อกแว่กไปคิดเรื่องอื่น แต่ไม่ได้เร็วจนไม่สามารถเข้าใจข้อมูลได้) จะช่วยอุดช่องว่างให้สมองเราได้

ลองนึกแบบนี้ดูก็ได้ว่า สมองเราสามารถประมวลผลได้ 800–1400 คำต่อนาที
ถ้าเราอ่านแค่ 200 คำต่อนาที สมองก็จะมีช่องว่างให้คิดฟุ้งไปเรื่องอื่น
แต่ถ้าอ่านเร็วเกินไป สมองก็อาจไม่สามารถจำอะไรได้

ทริคหนึ่งที่จะช่วยให้อ่านได้เร็วขึ้นคือมีตัวนำสายตา(ปากกา หรือนิ้ว ไล่ไปทีละบรรทัด) ให้สายตาได้มีตัวนำ จะได้ไม่อ่านกระโดดไปมา และมีสมาธิมากขึ้น

อาจจะดูแปลกแต่โดยปกติแล้วสายตาของเราจะไม่ได้อ่านเป็นเส้นตรงตามบรรทัด
ถ้าไม่มีตัวช่วยนำสายตา มันจะกระโดดข้ามไปข้ามมา
เดี๋ยวก็ไปหน้า เดี๋ยวก็ย้อนกลับ เดี๋ยวก็ไปบรรทัดล่าง แล้วก็ขึ้นไปข้างบนอีก

หรืออาจจะลองแทรกแซงสิ่งรบกวนด้วยการขีดๆเขียนๆเป็นภาพดูก็ได้

การขีดๆเขียนๆเล็กระหว่างที่กำลังรับข้อมูลไปด้วยนั้นช่วยได้
เพราะมันใช้สมองน้อย แต่มากพอจะช่วยสกัดความคิดว่อกแว่กได้

ทำงานทีละอย่าง

เรามักคิดว่าการทำหลายๆอย่างพร้อมกันจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น !

คิดผิดมาก คิดใหม่ได้เลย

เรามักคิดว่า

ถ้าทำหลายอย่างพร้อมกัน 1 นาที + 1 นาที = 1 นาที

แต่จริงๆแล้ว 1 + 1 นาที = 4 ถึง 10 นาทีเลยต่างหาก

นั่นเพราะเราประเมินตัวเองสูงไปว่าสามารถทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกันได้

ทั้งที่จริงๆแล้วสมองเราไม่ได้ทำได้ดีขนาดนั้น

เพราะสมองเราทำงานแบบรู้ตัวได้แค่ทีละอย่าง

เรามักคาดหวังว่าจะอ่านหนังสือพร้อมกับเขียนอะไรไปด้วยได้เลย
แต่จริงๆแล้ว พอเราอ่าน เจอจุดสำคัญ เราก็จะหยุดอ่าน หันมาเขียน แล้วก็กลับไปอ่านการสลับไปมาแบบนี้ สมองจะทำงานหนักจนส่งผลต่อสมาธิและความจำ

ลองจัดสรรเวลาใหม่ ทำงานเป็นบล๊อก ทีละ 1 อย่าง เสร็จแล้วค่อยไปทำอีกบล๊อกหนึ่ง
(เช่น อ่านให้จบก่อน 10 หน้า แล้วค่อยมาจดบันทึก)

นอกจากจะไม่เป็นการสลับสมองไปมาเร็วเกินไปแล้ว จะยิ่งทำให้เรามีสมาธิกับมันมากขึ้น

ลืมเรื่องการจำระหว่างอ่านไป แล้วจะจำได้ดีขึ้น

ต่อจุด

ระหว่างการจำข้อความ 2 ข้อความต่อไปนี้

DSP59RKN32QWA9088

TUU22PRA05YUT2557

หลักๆแล้ว สมองเราจะเข้าใจและจำข้อมูลได้ดีขึ้น เมื่อ

  • มีการเชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับความรู้เดิม
  • ได้เห็นภาพรวม เห็นบริบทก่อน
  • มีการจัดโครงสร้างของข้อมูล

หนึ่งในตัวช่วยที่ดีมากๆและสามารถตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้ได้คือการบันทึกข้อมูลแบบ

แผนที่ความคิด (MindMap)

เราสามารถใช้แผนที่ความคิดได้กับหลายเรื่อง เช่น

  • การสรุปเนื้อหาจากการอ่าน
  • บันทึกการประชุมและนำเสนอ
  • การระดมสมอง

ใช้สมองเยอะๆ

เรามักคิดว่าเราต้องจำข้อมูลให้ได้ อ่านข้อมูลซ้ำๆ เพื่อที่จะให้สมองเข้าใจและนำไปใช้ได้อัตโนมัติ

นี่ก็ไม่ใช่เรื่องจริงอีกนั่นแหละ

การคิดแบบนี้จะทำให้เราอ่านข้อมูลแบบเรื่อยเปื่อย สักแต่จะอ่านอย่างเดียว แต่ไม่ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในสมองเลย

การใช้สมองเยอะๆในการซึมซับข้อมูลนั้นจะทำให้เราสามารถถ่ายทอดข้อมูลได้ดีขึ้น

ลองอธิบายเนื้อหาที่ได้รับกับเพื่อนๆ หรือลองตั้งคำถามกับเนื้อหาเหล่านั้นดู

มันจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงของเนื้อหากับความรู้เดิมได้มากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม อย่าอ่านซ้ำ ทันทีหลังจากอ่านเนื้อหานั้นไปแล้ว
ให้ลองเปลี่ยนมาตั้งคำถามกับเนื้อหาที่อ่านไปดู เพราะมันเป็นการเรียกข้อมูลจากหน่วยความจำ

ให้ผลต่างกันมากถ้าเทียบกับการรับข้อมูลเดิมเข้าไปใหม่

ใช้ภาพ

สมองเรามักจะเก็บภาพได้ดีกว่าคำ
เรียกได้ว่า ภาพก็คือภาษาของหน่วยความจำนั่นแหละ

เหมือนกับที่เราคิดว่า ถ้าพูดภาษาอังกฤษได้ก็คงสื่อสารกับคนต่างชาติรู้เรื่อง
การใช้ภาพก็ให้ความรู้สึกเดียวกันนี้กับสมองนั่นแหละ

การเปลี่ยนคำ ตัวอักษร หรือตัวเลขให้เป็นภาพ จะช่วยให้เราจำได้ง่ายมากขึ้น

ใช้ความคิดสร้างสรรค์

เราจะจำข้อมูลต่างๆได้ดีขึ้น ถ้ามันมีความโดดเด่นในตัวของมันเอง

มันคือการขยายผลจากการใช้ภาพเพื่อเพิ่มความสามารถในการจำ

สิ่งที่พิเศษไปกว่านั้น คือนอกจากความคิดสร้างสรรค์จะช่วยในเรื่องความจำแล้ว

ความจำก็ยังช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยเหมือนกัน

ความคิดสร้างสรรค์มันมาจากการเชื่อมโยงสิ่งที่เรามีอยู่เดิมให้เกิดสิ่งใหม่ๆนั่นแหละ

ยิ่งมีความรู้ให้ดึงมาใช้มาก ก็ยิ่งนำไปสร้างสรรค์ได้มาก
กลับกันถ้าเรามีความรู้น้อย มันก็จะเป็นตัวจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของเราเช่นกัน

อย่าคิดว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด เราสามารถเพิ่มมันได้จากหลายๆวิธี เช่น

  • รู้ตัวให้น้อยลง เมื่ออยู่ในโหมดที่อยากสร้างสรรค์ลองตัดตรรกะกับเหตุผลไปบ้าง
  • การเดินก็มีส่วนช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน
  • ความรกของโต๊ะทำงานก็อาจเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้คุณสร้างสรรค์มากขึ้น

หนึ่งในแบบฝึกความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ คือลองหยิบอะไรก็ได้มา 1 อย่าง
แล้วลองคิดดูว่าสามารถนำสิ่งนั้นไปทำอะไรได้บ้าง

อย่าเรียนรู้มากเกินไป

“จำนวนชั่วโมงที่อ่านหนังสือ ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับคะแนนสอบ”

ประโยคนี้น่าสนใจนะ เพราะในช่วงมหาวิทยาลัย หลายครั้งคนที่อ่านหนังสือมากๆ กลับได้คะแนนสอบน้อยกว่าคนที่อ่านหนังสือน้อยอีก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราใช้สมองมากเกินไป

ประสิทธิภาพการทำงานของเรามีอยู่อย่างจำกัด (ประมาณ 48 ชั่วโมงเท่านั้นแหละ)

ถ้าทำงานมากกว่านี้ ประสิทธิภาพของเราจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ปกตอแล้ว เราอ่านหนังสือได้อย่างมากก็แค่ 60 นาทีเท่านั้น

เพราะถ้าอ่านติดต่อกันนานกว่านั้นโดยไม่พักเลย ความเข้าใจในเนื้อหาจะลดลงมากเลยทีเดียว

นั่นก็เพราะสมองอิ่มตัวเกินกว่าที่จะสามารถซึมซับอะไรไปได้

และความสามารถในการประมวลผลของสมอง ก็ทำได้แค่ครั้งละไม่เกิน 7 รายการเท่านั้น

ลองเปลี่ยนมากระจายการเรียนรู้ ลองอ่านเป็นบล็อก บล็อกละไม่เกิน 55 นาทีดู

แต่ก็ไม่ควรเป็นบล็อกที่เล็กไปนะ เพราะสมองเราใช้เวลาบูทเครื่องประมาณ 2–3 นาที

มันจะทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น มีเวลาให้สมองได้พัก ได้ซึมซับข้อมูลก่อน

เทคนิคนี้ยังรวมไปถึงการกระจายการทบทวนด้วย

ลองเปลี่ยนจากทบทวนทันทีหลังอ่านเป็นทบทวนหลังอ่านวันเว้นวันด้วยการดึงมาจากสมองของเราเอง

ให้ความรู้ได้จมลงไปในสมองแล้ว และให้เราได้ลองขุดมันขึ้นมาใช้ดูบ้าง

ยังมีเทคนิคการจดที่น่าสนใจ คือลองจดเฉพาะคำสำคัญจริงๆ (นาม กริยา คุณศัพท์) นอกจากจะทำให้จดได้เร็วขึ้น ยังช่วยให้สมองได้ใช้งานอีกด้วย

3) การนำไปใช้

นอกจากวิธีการรับสาส์นข้างต้นที่จะทำให้เราประมวลผลข้อมูลได้ดีขึ้นแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำไม่แพ้กันคือ การผลิตข้อมูลให้น้อยลง

เขียน Email ให้สั้นลง

จำกัดเนื้อหา

เขียนสรุปให้สั้นลง

เพื่อที่จะได้เหลือแต่ข้อมูลที่สำคัญจริงๆ

มันทำให้เราได้ทำความเข้าใจด้วย ว่าส่วนไหนคือเนื้อหาสำคัญที่เราอยากถ่ายทอดให้คนอื่น

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจในเล่มอีกมากเลยทีเดียว

ใครที่คิดว่าตัวเองอ่านได้ไม่ดี อ่านแล้วจำไม่ได้
ลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาแล้วลองอ่านมันดูครับ

มันอาจจะเป็นใบเบิกทางที่ดีให้คุณหาวิธีเรียนรู้ที่เหมาะกับคุณก็ได้นะ :)

--

--